สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของนิกายสุขาวดี ของ สุขาวดี (นิกาย)

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของนิกายสุขาวดีโดยทั่วไปจะประกอบด้วยพระอมิตาภพุทธะ พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (กวนอิม) โดยให้พระอมิตาภพุทธะประทับอยู่ตรงกลาง พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ อยู่ทางขวาของพระองค์ และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อยู่ทางซ้ายของพระองค์ ด้วยเหตุฉะนี้ พุทธศาสนิกชนมหายานจึงนิยมเรียกพระพุทธะและโพธิสัตว์สาวกกลุ่มนี้ว่า พระอริยเจ้าทั้งสามแห่งปัจฉิมทิศ (จีนตัวย่อ: 西方三圣; จีนตัวเต็ม: 西方三聖; พินอิน: Xīfāngsānshèng)

พระอมิตาภพุทธะ

พระอมิตาภพุทธะ แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีแสงประภาสส่องสว่างไม่มีประมาณ หรือพระอมิตายุพุทธะ แปลว่า พระผู้มีอายุขัยยาวนานไม่มีประมาณ เป็นพระธยานิพุทธะ 1 ใน 5 องค์ ประทับอยู่ทางตะวันตกของพุทธมณฑล พระกายสีแดงก่ำ เป็นต้นตระกูลของพระโพธิสัตว์ตระกูลปัทมะ หมายถึงปัญญาที่ทำให้มนุษย์รู้จักผิดชอบชั่วดี และเลือกปฏิบัติในทางที่ถูก สัญญลักษณ์คือดอกบัว พระพุทธเจ้าในตระกูลนี้ทั่วไปใช้บัวแดง พระโพธิสัตว์ปางดุใช้บัวขาว ภาพวาดของพระองค์มักวาดให้พระหัตถ์ยาวหมายถึงความสามารถที่จะเอื้อมพาสรรพสัตว์เข้าสู่แดนสุขาวดี มีพระชิวหายาวตระหวัดได้รอบโลกหมายถึงความสามารถในการแสดงธรรมได้ทั่วโลก ทรงนกยูงเป็นพาหนะนับถือส่วนใหญ่ในพุทธศาสนานิกายมหายาน ควบคู่กับพระอวโลกิเตศวรหรือเจ้าแม่กวนอิมในภาษาไทย

ท่านเป็นพระพุทธเจ้าในสุขาวดีพุทธภูมิห่างจากโลกมนุษย์ ทางทิศตะวันตกสิบล้านล้านกิโลเมตร ใช้เวลาสร้าง 5 กัป จึงสำเร็จเป็นอาณาจักรหนึ่ง ชื่อ แดนสุขาวดี (เก็กลกซือไก) จุดประสงค์ในการสร้าง เพื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์โลกที่สำเร็จธรรม ขอเพียงมีปณิธานแน่วแน่จริงใจและสวดคำว่า อามีทอฝอ (แต้จิ๋ว: อานีทอฮุก) อยู่เสมอ ยามใกล้จะสิ้นใจจะปรารถนาที่จะลาโลกไป พระอมิตาภพุทธะ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ จะเสด็จมารับไปยังแดนสุขาวดี ดังเช่นหลวงจีนในนิกายมหายานนิยมท่องกัน เพราะเป็นความเชื่อส่วนนิกาย ไม่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฏก และไม่พบในนิกายเถรวาท

พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์

พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์เป็นพระโพธิสัตว์อัครสาวกของพระอมิตาภะเช่นเดียวกับพระอวโลกิเตศวร แต่มีคนรู้จักน้อยกว่า ถือว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ด้านกำลัง สะท้อนพลังจิตที่เข้มแข็งของพระพุทธเจ้า ใกล้เคียงกับความหมายของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์

นิกายสุขาวดีกำหนดให้ท่านเป็นผู้คุ้มครองดวงจิตของผู้ที่จะไปอุบัติในแดนสุขาวดี ในอีกแนวหนึ่งเชื่อว่าพระมหาสถามปราปต์พัฒนามาจากพระอินทร์ของศาสนาพราหมณ์ เนื่องจากลักษณะในยุคแรกของท่านถือวัชระเช่นเดียวกับพระอินทร์ ต่อมามีการสร้างพระโพธิสัตว์องค์ใหม่ เรียกว่าพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ แยกออกมาจากพระมหาสถามปราปต์ ความนิยมนับถือพระมหาสถามปราปต์จึงลดลง ความหมายต่าง ๆ ของท่านได้หลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของพระโพธิสัตว์องค์อื่น ๆ ไป

พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (เจ้าแม่กวนอิม)

กวนอิม ตามสำเนียงฮกเกี้ยน หรือ กวนอิน ตามสำเนียงกลาง (จีนตัวย่อ: 观音; จีนตัวเต็ม: 觀音; พินอิน: Guān Yīn; อังกฤษ: Guan Yin) พระโพธิสัตว์ ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นองค์เดียวกันกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีต้นกำเนิดจากพระสูตรมหายานในอินเดีย และได้ผสมผสานกับตำนานเรื่องพระธิดาเมี่ยวซ่าน ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นถิ่นดั้งเดิมของจีนจนก่อให้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมในภาคสตรีขึ้น เพื่อแสดงออกถึงความอ่อนโยน และแสดงถึงความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้นดังเช่นความรักของมารดาที่มีต่อบุตร ซึ่งเป็นการผสมผสานกลมกลืนทางความเชื่อที่ปราศจากข้อขัดแย้ง เนื่องจากในสัทธรรมปุณฑรีกสูตรได้อธิบายว่า พระอวโลกิเตศวรนั้นสามารถแบ่งภาคเพื่อโปรดสรรพสัตว์ได้มากมายทั้งปางบุรุษและสตรี และเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์มหายานที่เมื่อเข้าไปสู่ดินแดนอื่นทั้งทิเบต จีน หรือญี่ปุ่น ย่อมผสมผสานกลมกลืนได้กับเทพท้องถิ่นนั้น ๆ

อย่างในกรณีพระอวโลกิเตศวรนี้ Sir Charles Eliot ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "คงเนื่องมาจากความสับสนทางความคิดของชาวจีนในยุคนั้น ซึ่งบูชาเทพเจ้าต่าง ๆ ของตนอยู่แล้ว และเมี่ยวซ่านก็เป็นเทพวีรชนดั้งเดิมอยู่ก่อน พออารยธรรมพระโพธิสัตว์จากอินเดียแผ่เข้าไปถึง ได้เกิดการผสานทางวัฒนธรรมเปลี่ยนชื่อเสียงคงไว้เพียงแต่คุณลักษณะต่าง ๆ พอให้แยกออกว่าเป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์"